คุ้มโบราณ...อาถรรพณ์หมายเลข ๘ (ตอนที่ 2)
จากข้อมูลในหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานฉลองวัดศรีบุญเรือง อำเภอเมืองแพร่ ดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คุ้มโบราณที่ชื่อ “คุ้มวิชัยราชา” คงถูกสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2434 – 2438...
คุ้มโบราณหลังนี้ถูกทิ้งร้างมานานหลายสิบปี แม้ในอดีตเคยมีผู้คนมาพยายามซื้อบ้านหลังนี้มากมายหลายราย แต่ต่างก็ต้องประสบกับเหตุอาถรรพณ์ทำให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา กระทั่งกลายเป็นเสียงเล่าลือถึงความเฮี้ยนของคุ้มโบราณบ้านเลขที่ 8 แห่งนี้
จากปรากฏการณ์เร้นลับที่มีผู้เคยพบเห็นวิญญาณของชายชราร่างเล็กซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น “เจ้าของบ้าน” ยังคงวนเวียนอยู่ในคุ้มโบราณหลังนี้มาตลอดระยะเวลายาวนาน รวมถึงอาถรรพณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับผู้พยายามเข้ามาเป็นผู้ครอบครองรายใหม่จนเป็นเหตุทำให้ไม่มีใครซื้อได้ ทำให้คุ้มหลังนี้ถูกปล่อยทิ้งรกร้างเรื่อยมา จนผู้คนจึงขนานนามเรียกบ้านหลังนี้ว่า “คุ้มผีสิง”
คุ้มวิชัยราชาได้ถูกทอดทิ้งโดยปราศจากการดูแลเอาใจใส่มาร่วม 40 ปี กระทั่งกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2534 คุณวีระ สตาร์ ทหารผ่านศึกในสมรภูมิลาว ได้บังเอิญหลงทางผ่านไปพบบ้านหลังนี้เข้า และในทันทีที่ได้พบเห็นก็ราวกับต้องมนต์สะกด เกิดความรู้สึกหลากหลาย ทั้งประทับใจ สงสาร และเสียดายที่ได้เห็นบ้านหลังนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงได้ตัดสินใจซื้อบ้านและที่ดินทั้งพันกว่าตารางวานี้ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2535 ท่ามกลางสายตาของชาวบ้านสีลอที่มองดูด้วยความฉงนฉงาย
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดจะเข้ามาครอบครองคุ้มโบราณหลังนี้จะต้องพบกับอาถรรพณ์หมายเลข 8 ซึ่งเป็นเลขที่บ้านของคุ้มหลังนี้...
ดังเช่นครั้งหนึ่ง เคยมีผู้ต้องการซื้อคุ้มหลังนี้รายหนึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ นัดวันโอนเรียบร้อย แต่ไม่สามารถมาถึงเมืองแพร่ เพราะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำที่จังหวัดพิษณุโลก เงินที่เตรียมมาทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายคุ้มหลังนี้ถูกพลเมืองดีที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ สวมวิญญาณ “พลเมืองร้าย” เอาไปจนหมดสิ้น การซื้อขายในครั้งนั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นอาจเป็นเพียงบังเอิญในความคิดของใครบางคนที่ไม่เชื่อเรื่องอาถรรพณ์ลี้ลับจากสิ่งที่มองไม่เห็น ต่อเมื่อได้เกิดเหตุการณ์ที่ชัดเจนขึ้นกับผู้ซื้ออีกรายหนึ่ง จนเป็นเหตุที่ทำให้เขาต้องล้มเลิกความต้องการครอบครองคุ้มโบราณหลังนี้ และเข็ดขยาดจนไม่กล้าแม้แต่จะคิดกลับมายังสถานที่แห่งนี้อีก
ผู้ซื้อรายนี้เป็นบุคคลในตระกูลดังที่เคยรู้จักและทำมาค้าขายกับเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ เจ้าของคุ้มรายสุดท้าย ก่อนจะถูกทอดทิ้งให้กลายเป็นคุ้มร้างอาถรรพณ์เมื่อครั้งก่อน
บุคคลผู้นี้ได้ตกลงราคากับทายาทเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย จึงเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เมืองแพร่ เพื่อทำธุรกรรมการซื้อขายให้เสร็จสิ้นสมประสงค์ เมื่อมาถึงก็เข้าพักค้างแรมที่โรงแรมนครแพร่ โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะพบเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องจดจำไปทั้งชีวิต
คืนนั้น ขณะบุคคลผู้นี้เข้านอนและอยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น พลันก็เกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกเหมือนถูกตรึงร่างไว้กับที่นอน เหงื่อกาฬแตกซึมทั้งที่อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ อวัยวะทุกส่วนในร่างกายก็ไม่อาจขยับเขยื้อนได้ มีเพียงสายตาเท่านั้นที่ยังคงทำงานเป็นปกติขณะเขาปรือตากวาดมองไปรอบๆ ห้อง
ท่ามกลางแสงสลัวภายในห้องพักของโรงแรม จู่ๆ ภาพของชายร่างใหญ่ ไม่สวมเสื้อ ในมือถือดาบ ได้มาปรากฏกายให้เห็นอย่างชัดเจน ชายนิรนามผู้มาเยือนยามวิกาลเดินทะลุผ่านผนังห้องตรงเข้ามายังเตียงนอนหลังใหญ่ในลักษณะอาฆาตมาดร้าย ใบหน้าดุดันถทึง จ้องมองผู้กำลังนอนหอบกระเส่าอยู่บนเตียงชนิดตาไม่กระพริบ
ไม่เพียงเท่านั้น ชายร่างใหญ่ผู้มาปรากฏกายให้เห็นได้ก้าวขาขึ้นมายืนอยู่เหนือร่างเศรษฐีนักธุรกิจจากเมืองกรุงผู้ต้องการครอบครองคุ้มโบราณ ก่อนจะยกเท้าข้างหนึ่งเหยียบยอดอกแล้วชี้ดาบในมือจ่อไปที่ลำคออีกฝ่ายไว้ พร้อมคำรามเสียงกึกก้อง
“กลับไปซะ...อย่าได้มายุ่งกับบ้านหลังนี้เด็ดขาด!!...”
ภาพที่ปรากฏให้เห็นทำให้ผู้ต้องการครอบครองคุ้มโบราณเกิดความรู้สึกพรั่นพรึงเหลือจะกล่าว
วินาทีนั้นเขาไม่อาจกระทำสิ่งใดได้ นอกจากมองดูผู้มาเยือนอย่างประสงค์ร้ายด้วยหัวใจระทึก ก่อนภาพของชายผู้มาเยือนจะค่อยๆ เลือนรางจางหายไปต่อหน้าต่อตา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนผวาครั้งนั้น ถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลหลักในการล้มเลิกการซื้อขายคุ้มวิชัยราชา และเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีใครกล้าแตะต้องคุ้มโบราณหลังนี้อีกเป็นเวลาหลายปี ตราบกระทั่งคุณวีระ สตาร์ ได้มาพบเห็นคุ้มหลังนี้เข้าโดยบังเอิญ
เมื่อปี พ.ศ.2534
คุณวีระ เล่าว่า สำหรับตัวเองนั้นเหมือนดั่งต้องมนต์สะกดนับแต่แรกเมื่อได้นำรถมาจอดหน้าบ้านหลังนี้ เมื่อปลายปี พ.ศ.2534 เพื่อถามทางจากชาวบ้านในละแวกนั้น แล้วจู่ๆ ก็สัมผัสกับกลิ่นหอมของดอกไม้ไทยที่ลอยมากับสายลม จนต้องลงจากรถเพื่อตามหาที่มาของกลิ่นหอมนั้น กระทั่งได้พบเห็นคุ้มเก่าแก่หลังนี้ซ่อนตัวอยู่ในดงวัชพืขอันรกเรื้อ ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่เห็นตัวคุ้มซึ่งอยู่ภายใน
ด้วยความที่เป็นผู้สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิม ประกอบกับเล็งเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมอันงดงาม ทำให้คุณวีระเกิดความสนใจคุ้มหลังนี้ในทันที และคิดอยู่ในใจว่าหากตนมีโอกาสได้ดูแลคุ้มหลังนี้ ก็จะพยายามบูรณะฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะอนุรักษ์คุ้มโบราณหลังนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองแพร่
อาจเป็นเพราะความตั้งใจจริงเช่นนี้กระมัง ที่ทำให้ต่อมาคุณวีระ สตาร์ สามารถวางเงินซื้อคุ้มหลังนี้ได้ ทั้งที่มีเงินไม่มากนัก และผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ณ ขณะนั้น ยินยอมให้วางค่ามัดจำเพียง 10 เปอร์เซนต์เพื่อซื้อบ้านหลังนี้ และยังคงอยู่ดูแลคุ้มวิชัยราชามาได้จนถึงปัจจุบัน
บ้านหรือคุ้มของพระวิชัยราชาหลังนี้ นอกจากจะเป็นเรื่อนไม้โบราณที่เป็นสถาปัตยกรรมอันลำค่าแล้ว ยังมีประวัติที่โลดโผนตื่นเต้นของเจ้าบ้านที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่และประเทศไทยอยู่หลายช่วง
นอกจากวีรกรรมของพระวิชัยราชา ที่ยอมเสี่ยงนำคนไทยจากภาคกลางขึ้นซ่อนไว้เพดานบ้านหลังนี้ จนรอดพ้นเงื้อมมือของพวกก่อการไปได้อย่างหวุดหวิด ตามที่กล่าวขานกันไว้ในประวัติของวัดศรีบุญเรืองแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ยืนขนาบเคียงข้างเจ้าพิริยเทพวงศ์ฯ เจ้านครเมืองแพร่ เพื่อนำพานออกไปรับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ยกทัพหลวงมาปราบพวกเงี้ยว และเชื้อเชิญให้เข้าสู่เมืองแพร่ วีรกรรมของพ่อเจ้าพระฯ ได้ทำให้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด หวาดระแวงจากส่วนกลางที่มีต่อเมืองแพร่ จนสถานการณ์ดีขึ้น
และจากในประวัติวัดศรีบุญเรืองเช่นกัน ที่ได้กล่าวถึงพ่อเจ้าพระฯ และแม่เจ้าคำป้อ ว่า ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้มีประวัติอันดีเด่น กอปรด้วยความซื่อสัตว์สุจริตต่อแผ่นดิน มีจิตใจที่มันคงในการกุศลและมีวิริยะศรัทธาแรงกล้าที่จะเสริมสร้างความเจริญให้แก่พระบวรพุทธศาสนา ได้พยายามทุ่มเทสติปัญญา ความสารถ และกำลังทุนทรัพย์ด้วยความเมตตาจิต เข้ามาช่วยเหลือบำเพ็ญกรณียกิจให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะกุศลทุกวิถีทาง
นอกจากนี้ พ่อหลง มหาอุต ซึ่งปัจจุบันมีอายุกว่า 90 ปี เล่าว่า ท่านได้รับการบวชเป็นสามเณรที่คุ้มวิชัยราชา เพราะทุกปี พ่อจ้าพระฯ จะบวชเณรให้กับเด็กเมืองแพร่จำนวนมาก
เล่ากันว่า ในขณะที่พ่อเจ้าพระฯ ได้ป่วยหนักจนไม่สามารถลุกเดินได้นั้น ท่านยังมีความกังวลต่อการก่อสร้างวัตถุของวัดที่ยังไม่แล้วเสร็จในขณะนั้น ได้สั่งให้คนรับใช้หามท่านทั้งเก้าอี้นอนเพื่อไปดูการก่อสร้างที่วัด พร้อมทั้งเร่งรัดให้ช่างดำเนินการก่อสร้างวิหารให้เสร็จภายในเร็ววัน และหลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ ท่านถึงได้อสัญกรรมประมาณปี พ.ศ.2465...