ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อาถรรพณ์หมายเลข ๘ ... คุ้มโบราณที่ถูกลืม(ตอนที่1)


คุ้มโบราณ...อาถรรพณ์หมายเลข ๘ (ตอนที่ 1)
       
หากย้อนกาลกลับไปเมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา คนเมืองแพร่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อาศัยอยู่ในตำบลในเวียง อำเภอเมือง ต่างร่ำลือถึงเรื่องราวเร้นหลอนชวนหวาดสะพรึงของคุ้มโบราณหลังหนึ่ง ที่ถูกทอดทิ้งให้รกร้างเดียวดายท่ามกลางดงวัชพืชและเถาวัลย์ปกคลุมจนแทบมองไม่เห็นตัวคุ้มที่ซุกตัวอยู่ภายใน...
         
สภาพทรุดโทรมจากการถูกทอดทิ้งมาเนิ่นนานของคุ้มโบราณ ณ ขณะนั้น กอปรกับบรรยากาศโดยรวมที่ทำให้ดูอึมครึมลึกลับ รวมถึงปรากฏการณ์ประหลาดหลายอย่างที่ผู้คนในละแวกใกล้เคียงเคยสัมผัสพบเห็น ยิ่งทำให้บริเวณที่ตั้งของคุ้มโบราณหลังนี้กลายเป็นสถานที่ชวนขนหัวลุก จนใครหลายคนไม่อยากเฉียดกรายเข้าใกล้แม้ในเวลากลางวันแสกๆ
         
จึงไม่น่าแปลกใจเลยสักนิดที่ใครต่อใครในย่านนั้นต่างพากันเรียกขานขนานนามคุ้มโบราณหลังนี้ว่า “คุ้มผีสิง”...
        
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีคนเคยพบเจอเหตุการณ์เหนือคำอธิบายมากมายหลายอย่าง ณ บริเวณที่ตั้งของคุ้มแห่งนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงหลายท่านต่างยืนยันว่า หลายครั้งที่มีคนเคยพบเห็นชายชราร่างเล็กในชุดโบราณปรากฏกายอยู่ในอาณาบริเวณคุ้ม
         
บางคนเคยเห็นชายชราลักษณะเดียวกันยืนเหม่อมองอยู่ริมหน้าต่างของห้องชั้นบนตรงปีกขวาด้านหน้าของคุ้ม และชายชราซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคนเดียวกันมักมาปรากฏให้ผู้คนเห็นในลักษณะเดินวอบไปแวบมาอยู่ภายใน ประหนึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่ยังคงพักอาศัยอยู่ในคุ้มหลังนี้
        
ไม่เพียงแต่ชายชราร่างเล็กที่แต่งกายในชุดชาวเหนือโบราณเท่านั้น หลายคนเคยเห็นหญิงชรามาปรากฏกายให้เห็นบ่อยครั้งเช่นกัน บางคนพบเห็นกลุ่มเด็กเล็กๆ กำลังวิ่งเล่นอย่างสนุกสนานอยู่ภายในคุ้ม และหลายครั้งที่ผู้คนในละแวกใกล้เคียงเคยได้ยินเสียงสะล้อซอซึงดังมาจากคุ้มโบราณ บรรเลงแว่วผ่านสายลมเมื่อยามตะวันชิงพลบ
        
จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อสถานที่แห่งนี้คือ “บ้านร้าง”…
        
เด็กๆ ในยุค 40-50 ปีก่อน จึงมักถูกพ่อแม่สั่งห้ามไม่ให้ย่างกรายเข้าใกล้บริเวณคุ้มโบราณ ด้วยหวั่นเกรงว่าจะพบพานกับเหตุการณ์ชวนขวัญผวาที่อาจนำพาไปสู่การเจ็บป่วย จากบุคคลในมิติซ่อนเร้นที่ยังคงวนเวียนอยู่ภายในคุ้มโบราณแห่งนี้
        
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุ้มแห่งนี้ถูกทิ้งร้างมาเนิ่นนาน นับจากผู้ครอบครองรายล่าสุดสิ้นอายุไขจากไปเมื่อหลายสิบปีก่อน รวมถึงเสียงร่ำลือถึงอาถรรพณ์และคำสาปต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นทำให้ไม่มีใครกล้าจะมาซื้อคุ้มหลังนี้
       
แต่ท้ายสุดแล้ว คุ้มโบราณที่ร่ำลือกันว่าเป็นคุ้มอาถรรพณ์ ก็ได้มาอยู่ในความดูแลของคุณวีระ สตาร์ ที่เข้ามาช่วยอนุรักษ์และบูรณะเรือนเก่าหลังนี้ไว้ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว และยังคงพยายามที่จะซ่อมแซมโบราณสถานที่ทรงคุณค่าหลังนี้ไว้อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประวัติศาสตร์ได้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งหนึ่ง
        
หากย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของคุ้มโบราณหลังนี้แล้วจะพบว่า ได้มีการบันทึกในหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานฉลองวัดศรีบุญเรือง อำเภอเมืองแพร่ ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2515 ได้กล่าวถึงประวัติวัดไว้ตอนหนึ่งว่า...
        
...ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้สร้างวัดนี้และสร้างในสมัยใด แต่ประมาณว่าสร้างกันมาหลายร้อยปีแล้ว จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุยืนยาวและพอชื่อถือได้ว่า ประมาณ 200 ปีเศษที่ล่วงมาแล้ว
        
ผู้บูรณะซ่อมแซมวัดในครั้งกระโน้น คือ “พญาแสนศรีขวา” ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ และบุตรของท่านชื่อ “พระยาประเสริฐชนะสงครามราชภัคดี” ได้เป็นผู้อุปถัมภ์บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้สืบเรื่อยมา
        
ต่อมา “แม้เจ้าคำป้อ” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาประเสริฐฯ ได้สมรสกับ “พระวิชัยราชา” (นามเดิมว่า ขัติ หรือเจ้าหนานขัติ) ผู้เป็นบุตรของเจ้าแสนเสมอใจ ลูกหลานคนหนึ่งของเจ้าหลวงเทพวงศ์ ลิ้นทอง เจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่ ระหว่างปี พ.ศ. 2361 ถึง 2373
        
เจ้าหนานขัติเองเป็นต้นตระกูล “แสนสิริพันธ์” ส่วนน้องชายท่านเจ้าเทพวงศ์ เป็นต้นตระกูล “ผาทอง” และ “วงศ์วรรณ”
      
พระวิชัยราชาผู้นี้ได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบในการที่ได้นำคนไทยที่เป็นข้าราชบริพารจากส่วนกลาง 3 คน ไปหลบซ่อนตัวอยู่บนเพดาน “คุ้มวิชัยราชา” จนรอดพ้นจากการติดตามไล่สังหารของกลุ่มกบฏเงี้ยวที่เข้าทำการปล้นยึดเมืองแพร่ และสังหารข้าราชการบริพารและครอบครัวไปกว่า 30 กว่าคน เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2445 ซึ่งขณะนั้นเจ้าหนานขัติดำรงตำแหน่งเป็นคลังจังหวัดอยู่
            
ต่อมาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามผู้ก่อการครั้งนี้จนราบคาบ และต่อมาเมื่อวีรกรรมนี้ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พระวิชัยราชา”
        
เล่ากันว่า พระองค์ทรงโปรดและไว้วางพระทัยในตัวของพระวิชัยราชา ถึงขนาดเคยเสด็จมาพักค้างแรมที่คุ้มวิชัยราชาเมื่อครั้งสมเด็จผ่านเมืองแพร่อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีใครสามารถยืนยันได้ และผู้ที่เล่าเรื่องนี้ซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้เสียชีวิตไปนานแล้ว
        
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า “พ่อเจ้าพระฯ” (พระวิชัยราชา) สร้างคุ้มวิชัยราชานี้เมื่อใด แต่เป็นที่แน่นอนว่าได้สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2441 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าวงศ์ แสนสิริพันธ์ บุตรของท่านเกิด ณ ที่บ้านหลังนี้ และในปีถัดมาท่านจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุให้วัดศรีบุญเรือง 
        
จากประวัติวัดศรีบุญเรืองและการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมและจากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่แถวคุ้มและบริเวณสีลอ ตลอดจนไล่เรียงศึกษาอายุของ “พ่อเจ้าพระฯ” และลูกหลานของท่าน รวมทั้งคำบอกเล่าของอาจารย์โสภา วงศ์พุฒ ที่ได้กล่าวถึงคุณยายที่ได้เสียชีวิตไปกว่า 20 ปีมาแล้ว เมื่อตอนอายุ 90 เศษ เล่าให้ฟังว่า...
        
เมื่อเกิดมาและจำความได้ก็เห็นบ้านหลังนี้อยู่แล้ว กอปรกับบริเวณที่ตั้งคุ้มวิชัยราชาในปัจจุบันเป็นทำเลที่เหมาะเพราะเป็นเนินสูง สันนิษฐานว่า คงเป็นคุ้มของพระยาแสนศรีขวามาก่อนแต่ในอดีต และสืบทอดกันมาจนถึงยุคสมัยของพระวิชัยราชาและแม่เจ้าคำป้อ ที่ได้สร้างคุ้มวิชัยราชาเรือนไม้สักทรงมะนิลาหลังงามนี้มาเป็นที่พักอาศัยแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา 


รายการบล็อกของฉัน