ตำนานปืนใหญ่ พญาตานี
ตำนานการสร้างปืนใหญ่พญาตานี มีประวัติความเป็นมาที่คลุมเครือ ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด มีการกล่าวถึงประวัติการสร้างไว้หลายสำนวน สำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงพญาอินทิราเป็นผู้สร้าง
"หนังสือสยาเราะห์เมืองตานี ของนายหะยีหวันหะซัน กล่าวถึงเหตุที่พญาอินทิราสร้างปืนว่า นายเรือสำเภาจีนได้นำปืนและกระสุนปืนมาถวาย ทำให้สุลต่านเกิดความละอายต่อชาวจีนผู้นั้น เนื่องจากพระองค์มีฐานะเป็นเจ้าผู้ครองนคร แต่หาได้มีอาวุธปืนไว้สำหรับป้องกันบ้านเมือง เหมือนนายเรือมีไว้ป้องกันตนและสำเภา ต่อไปจะเป็นที่ดูหมิ่นแก่ชาวต่างประเทศ จึงเรียกประชุมมุขมนตรี ให้จัดหาช่างและทองเหลืองมาหล่อปืนให้ได้ภายในระยะเวลา ๓ ปี และให้ทำประกาศห้ามพ่อค้านำทองเหลืองออกนอกเมือง"
เอกสารชิ้นนี้กล่าวถึงผู้สร้างว่าเป็นชาวโรมัน ต่างจากตำนานเรื่องอื่นๆ ที่อ้างว่าเป็นชาวจีน
"เมื่อได้ทองเหลืองพอเพียงแก่การหล่อแล้ว พญาอินทิราได้ให้นายช่างชาวโรมัน ชื่ออับดุลซามัค มาเป็นผู้ทำการหล่อปืน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนรอมดอน ปีชวดนักษัตร์ ฮิจยาเราะห์ ๗๘" (แลหลังเมืองตานี, อนันต์ วัฒนานิกร, ๒๕๒๘)
เรื่องเกี่ยวกับ "ชาวโรมัน" ซึ่งมีชื่อเป็น "แขก" นี้เคยปรากฏอยู่ในตำนานปัตตานี คือเรื่องพระองค์มหาวังษา พระเจ้ากรุงโรม ซึ่งโรมหรือโรมันนี้ไม่ได้หมายถึงกรุงโรมในอิตาลี แต่หมายถึงเมืองหรุ่ม
"เมืองโรม ตรงกับเมืองหรุ่ม ที่ตั้งเมืองเรียกลังกาซูก คำนี้ดูจะตรงกับลังกาสุกะ ถ้าถือตามนี้ก็แปลว่าลังกาสุกะ กับเกดะห์ อยู่ที่เดียวกัน" (ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ เล่ม ๓, กาญจนาคพันธุ์, ๒๕๑๘)
ดังนั้นช่างชาวโรมัน "อับดุลซามัค" ที่มาหล่อปืนนี้ อาจจะหมายถึงช่างจากที่ใดที่หนึ่งในอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ยุติว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ใดแน่ แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากปัตตานีนั่นเอง
ตำนานอีกเรื่องหนึ่งกล่าวถึง "นางพญาปัตตานี" เป็นผู้สร้าง แต่ปัญหาคือไม่ได้ระบุว่าเป็นนางพญาคนไหน ตำนานเรื่องนี้กล่าวถึงผู้ที่หล่อปืนพญาตานีว่าเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน แซ่ลิ้ม หรือหลิม ชื่อเคี่ยม เดินทางมาจากเมืองจีน แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านกะเสะ ปัตตานี ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวปัตตานี แล้วเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ชาวปัตตานีเรียกว่า "ลิ้มโต๊ะเคี่ยม" โต๊ะ หรือดาโต๊ะ หมายถึงผู้อาวุโส
ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอาศัยอยู่ปัตตานีได้หลายปี จนน้องสาวคือ ลิ้มกอเหนี่ยว เดินทางมาจากเมืองจีน เพื่อจะตามพี่ชายให้กลับบ้านไปดูแลพ่อแม่ และให้เลิกนับถือศาสนาอิสลาม ลิ้มกอเหนี่ยวอ้อนวอนอยู่หลายปีก็ไม่สำเร็จ ก็ผิดหวังอย่างมาก ตัดสินใจผูกคอตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ
บางตำนานเล่าว่าเหตุที่ลิ้มกอเหนี่ยวเลือกมาผูกคอตายใกล้กับมัสยิดแห่งนี้ ก็เพราะต้องการจะประชดพี่ชาย ซึ่งเป็นนายช่างก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ มัสยิดแห่งนี้จึงเหมือนต้องคำสาปทำให้ก่อสร้างไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมพยายามสร้างหลังคาโดมหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็เกิดฟ้าผ่าพังลงมาทุกครั้ง
มัสยิดกรือเซะก็มีตำนานที่หาข้อยุติได้ยากว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ทำให้เรื่องปืนพญาตานีและมัสยิดกรือเซะมาสอดคล้องกันพอดี ก็คือสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ สั่งให้สร้างมัสยิดขึ้น ๒ แห่ง คือมัสยิดกรือเซะ และมัสยิดตันหยง ดาโต๊ะ และใช้ช่างชาวจีน
หากนำตำนานและบันทึกฉบับนี้มาผูกเข้าด้วยกัน ก็เป็นไปได้ว่าผู้สั่งสร้างปืนพญาตานี อาจจะเป็นสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ หรือราชินีฮีเยา สั่งให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมนายช่างผู้สร้างมัสยิดกรือเซะเป็นผู้หล่อปืนขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานใดที่พูดถึงสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ ในฐานะผู้สร้างปืนพญาตานีกระบอกนี้
ส่วนราชินีฮีเยาขึ้นครองราชย์ห่างจากปีสวรรคตของสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ เพียง ๒๐ ปี และสุลต่านพระองค์ต่างๆ ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างผู้ครองปัตตานีทั้ง ๒ องค์นี้ ก็อยู่ในภาวะการเมืองที่ไม่สงบ และไม่มีหลักฐานใดๆ พอจะบ่งชี้ว่าเป็นผู้สร้างปืนพญาปัตตานี
ยังมีผู้สันนิษฐานว่าปืนพญาตานีน่าจะสร้างในสมัยราชินีฮีเยา โดยคำนวณจากช่วงเวลา และอายุปืน คือ"ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอพยพมาจากเมืองจีนในปี พ.ศ. ๒๑๒๑ ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสวยราชสมบัติ (พ.ศ. ๒๑๒๑-พ.ศ. ๒๑๓๖) หรือปลายรัชสมัยพระเจ้าธรรมราชา ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาอยู่ได้ระยะหนึ่งจนกระทั่งแต่งงานกับชาวปัตตานี และน้องสาวมาตามกลับบ้าน ได้อ้อนวอนพี่ชายอยู่หลายปี ฉะนั้นการสร้างปืนคงสร้างหลังจากน้องสาวถึงแก่กรรมแล้ว เพราะว่าหลังจากสร้างปืนเสร็จแล้วในการทดลองยิงปืนกระบอกที่สามลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เสียชีวิตในวันนั้น" (ปืนพญาตานี, สำราญ วังศพ่าห์, เมืองโบราณ, ๒๕๒๒)
ข้อสันนิษฐานนี้อาจจะมีปัญหาในเรื่องปี ๒๑๒๑ ที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาถึงสยาม เพราะสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ ผู้สร้างมัสยิดกรือเซะ สิ้นพระชนม์ในปี ๒๑๐๗ ก่อนที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะมาถึงสยาม ทำให้ไม่สอดคล้องกับตำนานผู้สั่งให้สร้างมัสยิด และบันทึกของฮอลันดา แต่ไม่ว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะมาก่อนปี ๒๑๐๗ หรือหลังจากนั้น ประกอบกับไม่มีหลักฐานว่าสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ เป็นผู้สั่งให้สร้างปืนพญาปัตตานี ระยะเวลาที่เหมาะสมลงตัวที่สุดคือในรัชสมัยของราชินีฮีเยา
นอกจากนี้ในสมัยของราชินีฮีเยา ซึ่งครองราชย์ยาวนานถึง ๓๒ ปี ก็เป็นยุคทองของปัตตานี ถึงกับมีหลักฐานว่าเป็นศูนย์กลางการค้าอาวุธให้กับสยามและญี่ปุ่นในเวลานั้น
ปัญหาของผู้สร้างปืนพญาปัตตานียังไม่จบลงแค่นั้น ยังมีหลักฐานอื่นชี้ว่า ราชินีบีรู ซึ่งครองราชย์ต่อจากราชินีฮีเยา เป็นผู้สั่งให้หล่อปืนพญาปัตตานีขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่ามีกระแสข่าวมาตลอดเวลาว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามตระเตรียมกำลังเพื่อยกมาตีปัตตานี จึงสั่งการให้เตรียมตัวป้องกันภัยสงคราม แล้วให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นนายช่างหล่อปืนใหญ่ไว้จำนวน ๓ กระบอก คือ นางพญาตานี ศรีนัครี และมหาเลลา
บริเวณที่หล่อปืนนี้อยู่ไม่ห่างจากมัสยิดกรือเซะ ปัจจุบันยังปรากฏเป็นพื้นที่เตียนโล่ง เนิน ๔ เหลี่ยม กว้างยาวประมาณ ๔ เมตร ไม่มีต้นหญ้า หรือต้นไม้ขึ้น เพราะดินบริเวณนั้นถูกเผาจนสุกกลายเป็นอิฐจนหมด
ขณะที่หล่อปืนเสร็จไปแล้ว ๒ กระบอก พอถึงกระบอกที่ ๓ กลับเททองไม่ลง เมื่อได้มีการเซ่นไหว้บวงสรวงแล้วก็ยังเททองไม่ลงอีก ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงกล่าวคำปฏิญาณว่า หากเททองสำเร็จลงได้จะขอเอาชีวิตเป็นเครื่องเซ่น จึงสามารถเททองได้สำเร็จ
ครั้นเมื่อหล่อปืนทั้ง ๓ กระบอกเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ได้ทำการทดลองยิงปืนกระบอกที่ ๑ และ ๒ จนถึงกระบอกที่ ๓ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ได้ทำตามสัญญาที่ได้ปฏิญาณไว้ จึงไปยืนอยู่หน้าปากกระบอกปืน
"แล้วกล่าวคำว่าที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ปฏิญาณไว้ ถ้าปืนกระบอกนี้เทลงดีแล้ว จะเอาชีวิตเป็นเครื่องเซ่นไหว้ปืน ครั้งนี้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ปลงใจยอมดังที่ปฏิญาณไว้แต่ก่อน แล้วก็บอกให้คนจุดปืน พอปืนลั่นออกแรงดินหอบพาลิ้มโต๊ะเคี่ยมสูญหายไปในเวลานั้น" (พงศาวดารเมืองปัตตานี, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓, ก้าวหน้า, ๒๕๐๗)
ปืนพญาตานีนี้มีขนาดที่บันทึกไว้ในเอกสารว่า ยาว ๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วครึ่ง ปากกระบอกกว้าง ๑๑ นิ้ว ภายหลังสำรวจใหม่เทียบกับมาตราปัจจุบัน เส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้อง ๒๔ เซนติเมตร ยาว ๖.๘๒ เมตร ขอบปากลำกล้องหนา ๑๐ เซนติเมตร หล่อด้วยสำริด ลำกล้องเรียบ บรรจุกระสุนทางปากกระบอก มีหูระวิง และห่วงคล้องสำหรับยก ๒ คู่ ท้ายปืนหล่อตันเป็นรูปสังข์ เพลาสลักรูปราชสีห์ มีคำจารึก "พญาตานิ" และขนาดดินดำที่ใช้บรรจุเพื่อยิง
สรุปว่ามีข้อสันนิษฐานเรื่องผู้สร้างปืนพญาตานีไว้ ๓ พระองค์ คือ สุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์ (๒๐๔๓-๒๐๗๓) สร้างโดยช่างชาว "โรมัน" ชื่ออับดุลซามัค อีก ๒ พระองค์ที่เป็นไปได้คือ ราชินีฮีเยา (๒๑๒๗-๒๑๕๙) ราชินีบีรู (๒๑๕๙-๒๑๖๗) สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ชาวจีน ช่างหล่อปืนทั้ง ๒ คนนี้เป็นชาวพื้นเมือง ซึ่งสอดคล้องกับเทคนิคการหล่อปืนพญาตานีว่าเป็นฝีมือของช่างชาวพื้นเมือง ไม่ใช่เป็นปืนนำเข้าจากที่อื่น