ปืนพญาตานีเข้ากรุงเทพฯ
ในปี ๒๓๒๙ พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้นครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพหลวงลงมาปราบปราม เมื่อตีทัพพม่าแตกพ่ายไปแล้ว หัวเมืองที่เคยแข็งขืนแต่ก่อนก็ให้มาอ่อนน้อมดังแต่ก่อน มีพระยาไทรบุรี พระยาตรังกานู ก็ปรากฏว่าพระยาปัตตานียังแข็งขืน ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสยาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพไปตีเมืองปัตตานี จนยึดเมืองได้สำเร็จ
ระหว่างนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงรับแจ้งว่าพบปืนใหญ่ ๒ กระบอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำปืนทั้ง ๒ กระบอกกลับกรุงเทพฯ เพื่อตัดรอนไม่ให้ปัตตานีแข็งขืนได้อีก
"แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกกองทัพเข็นปืนทองเหลืองใหญ่ในเมืองปัตตานี ๒ กระบอกลงเรือรบ แต่ปืนกระบอกหนึ่งตกน้ำเสียที่ท่า หน้าเมืองปัตตานี ได้ไปแต่กระบอกเดียว คือปืนนางพระยาปัตตานีเดี๋ยวนี้" (พงศาวดารเมืองสงขลา, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓, ก้าวหน้า, ๒๕๐๗)
ปืนกระบอกที่ ๒ คือศรีนัครี นั้นในพงศาวดารเมืองปัตตานีกล่าวไว้แตกต่างกัน คือไม่ได้ตกน้ำหายไป แต่จมหายทั้งเรือ
"ปืนกระบอกที่ ๑ ชื่อนางปัตตานีนั้น ออกไปถึงเรือหลวงก่อน ได้ยกปืนขึ้นบนเรือหลวงเสร็จแล้ว เรือที่บรรทุกปืนกระบอกที่ ๒ ซึ่งชื่อศรีนัครี ตกอยู่ข้างหลัง เกิดพายุ เรือที่บรรทุกปืนกระบอกที่ ๒ ชื่อศรีนัครีล่มลง ปืนก็จมสูญหายไปด้วย"
ส่วนปืนกระบอกที่ ๓ นั้น ที่ชื่อมหาเลลานั้น ไม่มีหลักฐานใดๆ กล่าวถึง หายสาบสูญไปเฉยๆ เอกสารบางฉบับอ้างว่าปืนแตกขณะทำการรบกับกองทัพของปลัดจะนะ ทัพหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ
เมื่อปืนพญาตานีมาถึงกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๒๙ กรมพระราชวังบวรฯ กราบบังคมทูลถวายปืนใหญ่แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พร้อมทั้งกราบทูลถวายครัวแขก พม่าเชลย และเครื่องศาสตราวุธต่างๆ
จากนั้นก็โปรดให้หล่อปืนขึ้นคู่กับปืนพญาตานีอีกกระบอกหนึ่ง ที่โรงหล่อริมถนน ประตูวิเศษไชยศรี พระราชทานชื่อว่า "นารายณ์สังหาร" และให้หล่อปืนขึ้นอีก ๖ กระบอก ทำโรงขึ้นไว้เป็นคู่ๆ กันข้างประตูวิเศษไชยศรี ภายหลังจึงย้ายมาไว้ที่หน้ากระทรวงกลาโหมอย่างในปัจจุบัน ทุกวันนี้จังหวัดปัตตานียังใช้สัญลักษณ์ปืนพญาตานีเป็นตราประจำจังหวัดอยู่
ในคราวที่นำปืนพญาตานีมากรุงเทพฯ นี้ ก็ยังมีครัวแขกพ่วงมาด้วย บุคคลที่มีชื่อเสียงในกลุ่มครัวแขกครั้งนี้คือนางประแดะ มเหสีของท้าวประดู่
นางก็ไร้ญาติวงศ์พงศา
หมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี
โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี
อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา
หมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี
โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี
อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา
ตำนานปืนพญาตานีได้นำไปสู่เรื่องราวของ "กษัตริยา" ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถขับเคี่ยวกับอาณาจักรใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยาได้ ปืนกระบอกนี้จึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่อาวุธสงคราม แต่ยังบอกเรื่องราวในอดีตของ การเมือง เศรษฐกิจ สัมพันธภาพระหว่างสยามกับปัตตานี และเป็นอนุสรณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของปัตตานี
ได้เป็นอย่างดี
ได้เป็นอย่างดี