บัลลังก์เลือด
ลำดับวงศ์ในราชวงศ์ "ศรีวังสา" มีกษัตริย์ (ชาย) มาก่อน ๕ พระองค์ ก่อนจะเข้าสู่ยุคของราชินี (กษัตริย์หญิง) อีก ๓ พระองค์
กษัตริย์พระองค์แรกคือ สุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์ ครองราชย์ระหว่างปี ๒๐๔๓-๒๐๗๓ ผู้ทรงสถาปนารัฐปัตตานีเป็นนครรัฐอิสลามในชื่อว่า "ปัตตานี ดารุสสลาม" (Patani Darus Salam) อันหมายถึงนครแห่งสันติ
กษัตริย์พระองค์ต่อมาเป็นพระราชโอรสของสุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์ คือสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ กษัตริย์ผู้โจมตีกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ระหว่างปี ๒๐๗๓-๒๑๐๗
ลำดับที่ ๓ คือสุลต่านมันโซร์ ชาฮ์ (Sultan Mansur Syah) ครองราชย์ระหว่างปี ๒๑๐๗-๒๑๑๕ โอรสองค์ที่ ๓ ของสุลต่านอิสมาเอล ชาห์ ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐา แม้ว่าสุลต่านมันโซร์ ชาฮ์ จะมีโอรสที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อก็ตาม แต่ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ได้ทรงสั่งเสียกับบรรดาพระราชวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ ว่าให้ยกราชสมบัติให้กับปาติก สยาม โอรสของสุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮ์ แทนโอรสของพระองค์เอง จึงเป็นต้นเหตุแห่งบัลลังก์เลือดของปัตตานี
ผู้สืบทอดบัลลังก์ปัตตานีองค์ต่อมาคือ สุลต่านบาฮาดูร์ ชาฮ์ (Bahadur Syah) โอรสของสุลต่านมันโซร์ ชาฮ์ ครองราชย์ระหว่างปี ๒๑๑๖-๒๑๒๗ แต่แล้วก็ถูกพระเชษฐา คือราชา บีมา (Raja Bima) โอรสของสุลต่านมันโซร์ ชาฮ์ ที่เกิดจากพระสนม ลอบปลงพระชนม์ ส่วนราชา บีมา ก็ถูกจับ และถูกปลงพระชนม์เช่นกัน
ปัตตานี ดารุสสลาม นครแห่งสันติ เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมต่อเนื่องกันเช่นนี้ ถึงกับทำให้หมดผู้สืบบัลลังก์ฝ่ายชาย ปัตตานีในสมัยต่อจากนี้จึงถูกปกครองโดย "กษัตริยา" ต่อเนื่องกันถึง ๔ พระองค์ ในระยะเวลา ๖๗ ปี ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของปัตตานี
นางพญาตานี
ราชินีปัตตานี ๓ พระองค์แรกคือ
ราชินีฮีเยา (Raja Hijau) ราชินีบีรู (Raja Biru) และราชินีอูรู (Raja Ungu) ทั้ง ๓ พระองค์เป็นพี่น้องกัน และสืบราชสมบัติต่อเนื่องกัน ส่วนราชินีพระองค์สุดท้ายเป็นราชธิดาของ ราชินีอูรู มีพระนามว่าราชินีกูนิง (Raja Kuning) เอกสารบางฉบับระบุว่าราชินีฮีเยา บีรู และอูรู เป็นราชธิดาของสุลต่านมันโซร์ ชาฮ์ แต่บางฉบับระบุว่าเป็นราชธิดาของสุลต่านบาฮาดูร์ ชาฮ์
แต่เอกสารจากบันทึกของบริษัทอีสต์อินเดีย ซึ่งเขียนขึ้นในปี ๒๑๖๕ ได้กล่าวถึงราชินีเมืองปัตตานีในขณะนั้นว่า
"ปัตตานีเป็นอาณาจักรโบราณ แต่โดยปกติจะต้องถวายเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงสยาม ในขณะนั้นมีสตรีผู้หนึ่งเป็นผู้ครองนคร สตรีผู้นี้เป็นราชธิดาของผู้ครองเมืองปัตตานีองค์ก่อน ผู้ครองปัตตานีได้ถึงแก่พิราลัยได้ประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว แม้ว่าผู้ครองนครจะเป็นสตรีก็ตาม แต่ก็สามารถปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน" (บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ ในศตวรรษที่ ๑๗ เล่ม ๑, กรมศิลปากร, ๒๕๑๒)
แม้ว่าบันทึกนี้จะอยู่ในสมัยราชินีบีรู ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี ๒๑๕๙-๒๑๖๗ แต่ "สตรี" ที่เอกสารนี้กล่าวถึงน่าจะหมายถึงราชินีฮีเยา ซึ่งปกครองปัตตานียาวนานถึง ๓๒ ปี คือระหว่างปี ๒๑๒๗-๒๑๕๙ ส่วน "ผู้ครองเมืองปัตตานีองค์ก่อน" ซึ่งครองราชย์เป็นลำดับก่อนหน้าราชินีฮีเยาก็คือ สุลต่านบาฮาดูร์ ชาฮ์
ราชินีทั้ง ๓ พระองค์ก็น่าจะเป็นราชธิดาของสุลต่านองค์นี้
ราชินีทั้ง ๔ พระองค์ทำให้ปัตตานีแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เป็นยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศจนเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญในภูมิภาคนี้ ทำให้สยามมุ่งหวังที่จะครอบครองผลประโยชน์แห่งนี้เสมอมา ยุคนี้จึงทำให้ปัตตานีต้องทำสงครามกับสยามหลายครั้ง แต่กองทัพกรุงศรีอยุธยาก็ไม่สามารถปราบปัตตานีได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การที่ปัตตานีจำเป็นจะต้องป้องกันตัวเองจากการรุกรานของกองทัพสยามและพันธมิตร จึงมีการก่อสร้างพระราชวังอย่างเข้มแข็ง และสร้างอาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุดในเวลานั้น คือปืนใหญ่ ซึ่งมีจำนวนมากพอที่จะยันกองทัพสยามไว้ได้ หลักฐานชิ้นสำคัญของปืนใหญ่อานุภาพสูงก็คือ ปืนพญาตานี เป็นปืนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งตั้งแสดงอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน