ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พบสถานที่บรรจุฉลองพระองค์ของพระเจ้าตากสินที่เมืองจีน


พบสถานที่บรรจุฉลองพระองค์ของพระเจ้าตากสินที่เมืองจีน
                   

เมื่อ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๐ พระยาตากสินได้ปราบดาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี ประชาชนขนานนามพระองค์ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี จากนั้นจึงได้ทรงปราบปรามก๊กต่างๆที่แตกแยกกันตอนเสียกรุงศรีอยุธยา อันมีก๊กเจ้าพระฝาง ก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก ก๊กเจ้านคร และก๊กเจ้าพิมายได้สำเร็จ  จึงทรงรวบรวมผืนแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่น และตกทอดมาเป็นมรดกของลูกหลานไทยในปัจจุบัน
                
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือวีรบุรุษของชาติไทยที่มีอนุสาวรีย์ และศาลเทพารักษ์ที่อุทิศแด่พระองค์มากมาย พระองค์ทรงเป็นลูกครึ่งไทย-จีน กล่าวคือ มีพระราชบิดาเป็นจีนชื่อไหฮอง มีพระราชมารดาเป็นไทยชื่อนกเอี้ยง และทราบต่อมาว่าจีนไหฮอง มีพื้นเพเดิมอยู่แถบเมืองซัวเถา ในมณฑลกวางตุ้งเป็นจีนแต้จิ๋ว แซ่แต้ ซึ่ง แท้ที่จริงแล้วพระนามของพระราชบิดาพระเจ้าตากสิน นั้นคือ แต้ย้ง หรือ ต๋า และน่าจะมีบ้านเกิดอยู่ที่หมู่บ้านหัวฟู่ อำเภอเฉิ่งไห่ใกล้ๆกับเมืองซัวเถา ด้วยพบหลักฐานสำคัญที่หมู่บ้านนั้น คือศาลประจำตระกูลแต้ และสุสาน บรรจุฉลองพระองค์ของ พระเจ้าตากสิน ซึ่งสุสานนี้ไม่ใช่สุสานฝังพระศพพระเจ้าตากสิน เป็นประเพณีปฏิบัติในหมู่ชาวจีน หากไม่มีศพก็ให้ฝังเสื้อผ้าแทน
              
สุสานฉลองพระองค์อยู่ริมคูน้ำที่ล้อมรอบหมู่บ้าน สุสานหันหน้าไปยัง แม่น้ำหันเจียง ตัวสุสานเป็นเนินดินรูปครึ่งวงกลมก่ออิฐล้อมรอบมีบันได ทางขึ้นลดหลั่นเป็นระดับสองชั้น หน้าเนินหลุมดินมีแผ่นหินสลักอักษรจีน สามแถวปักประกาศไว้ เป็นประกาศที่แจ้งว่า สถานที่นี้คือสุสานบรรจุ ฉลองพระองค์พระเจ้าตากสินกษัตริย์สยาม ซึ่งเป็นสิ่งเตือนใจให้เรารำลึก ถึงวีรกรรมของพระองค์ ที่ได้ใช้พระปรีชาสามารถรวมแผ่นดินไทยให้เป็น ปึกแผ่นขึ้นใหม่ นับเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่พวกเราคนไทยไม่ควร ลืมเลือน

               ไม่ไกลกันนักที่ใจกลางหมู่บ้าน เป็นที่ตั้งของศาลประจำตระกูลแต้ ซึ่งคงเป็นบ้านเดิมของพระราชบิดาแต้ย้ง ตัวศาลเป็นอาคารสามหลัง ชั้นเดียวสร้างติดกันก่อด้วยอิฐ หลังคาทรงเก๋งจีน ศาลแห่งนี้มีประตูเหล็ก โปร่งมีแผ่นหินสลักอักษรจีนค่อนข้างเลือนรางติดข้างประตูใจความว่า เป็นศาลประจำ ตระกูลแต้ สถาปนาในปีที่ ๑๑ แห่งศักราชสาธารณรัฐจีน (พ.ศ.๒๔๖๕) ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม      
สถานที่สำคัญทั้ง ๒ แห่ง ที่หมู่บ้านหัวฟู่นี้ เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ อันมีความหมายต่อชาติไทย และเป็นหน้าที่ของคนไทย ที่จะต้องช่วยกัน ดูแลรักษาให้ดีกว่านี้ และให้คงอยู่สืบไป

รายการบล็อกของฉัน