ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

โอมเซติผู้ระลึกชาติ ความผูกพันสามพันปี


ภาพบนฝาผนังในวิหารของฟาโรห์เซติที่ 1
มีคนพยายามหาคำตอบว่า ตายแล้วไปไหน? การกลับมาเกิดใหม่มีจริงหรือไม่?

ซึ่งคำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่มีกรณีหนึ่งที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้นั้นคือกรณีของ โดโรธี หลุยส์ อีดี้ (Dorothy Louise Eady) และนี่คือเรื่องราวของเธอ

โดโรธี เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี 1904 ในกรุงลอนดอน เมื่ออายุก่อนสามขวบ เธอก็ดูเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่วันหนึ่งเธอเกิดอุบัติเหตุตกบันไดจนหมดสติไปเป็นเวลานาน แพทย์บอกว่าเธอเสียชีวิตไปแล้ว ร่างของเธอถูกวางไว้ในห้องของเธอเพื่อเตรียมพิธีศพ แต่เมื่อทุกคนกลับไปที่ห้องก็พบว่าหนูน้อยกำลังนั่งเล่นของเล่นอยู่บนเตียง เหตุการณ์นั้นนำความดีใจกลับมาสู่ครอบครัว แต่ไม่นานความกังวลก็เข้ามาแทนที่ เมื่อพ่อแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าโดโรธีเปลี่ยนไป เธอกลายเป็นเด็กที่ตื่นกลัวง่าย แม้กระทั่งกับสิ่งของธรรมดาๆ ที่ไม่เคยกลัว บ่อยครั้งที่เธอมักจะไปหลบหลังตู้เตียง นอกจากนั้นเธอเริ่มพูดอะไรแปลกๆ เช่น บอกว่า “พาหนูกลับบ้านที” ทั้งที่ขณะนั้นเธอก็อยู่ในบ้าน

รูปสลักฟาโรห์เซติที่ 1
วันหนึ่งหนูน้อยได้ดูสมุดภาพเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปสำหรับเด็ก ในนั้นมีภาพสิ่งก่อสร้างของอียิปต์โบราณด้วย เมื่อเห็นภาพนั้นเธอบอกกับพ่อแม่ว่า นั่นก็คือบ้านของเธอ แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับวันที่พวกเขาพาสาวน้อยโดโรธีไปเที่ยวที่บริติชมิวเซียมซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุโบราณจำนวนมาก สิ่งที่ทำให้พ่อแม่ขนหัวลุกคือ เมื่อเดินเข้าไปในส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณ โดโรธีดูเปลี่ยนไปทันที เมื่อเธอเห็นรูปแกะสลักของเทพและเทพีทั้งหลายเธอก็วิ่งเข้าไปจุมพิตที่เท้าของรูปเหล่านั้นอย่างรวดเร็วจนทุกคนคาดไม่ถึง เมื่อเดินไปถึงภาพถ่ายของซากวิหารในยุคเซติที่ 1 พระบิดาของราเมเซส ฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ เธอบอกกับพ่อแม่ว่า นั่นคือบ้านของเธอ และเธอยังรู้จักฟาโรห์เซติ ที่ 1 เป็นการส่วนตัวด้วย โดโรธีพูดถึงองค์ฟาโรห์ว่า เป็นคนแก่ที่ใจดีมาก วันนั้นเธอดูมีชีวิตชีวามากกว่าทุกวันนับตั้งแต่ฟื้นกลับมาจากความตาย แล้วเหตุการณ์ก็ทวีความตื่นเต้นมากขึ้น เมื่อเธอพูดภาษาแปลกๆที่ไม่มีใครฟังเข้าใจออกมาด้วยเสียงดังลั่น ทำให้พ่อแม่คิดว่าต้องพาเธอกลับโดยเร็ว แต่เธอขัดขืน แถมยังบอกด้วยว่าเธอจะอยู่กับคนของเธอที่นั่น

ในช่วงอายุ 10-12 ปี โดโรธีไปที่บริติชมิวเซียมบ่อยมาก เธอใช้เวลาทั้งวันในส่วนจัดแสดงอารยธรรมอียิปต์โบราณ ในที่สุดโดโรธีก็เข้าเรียนเฮียโร–กลิฟฟิก (Hieroglyphic) ภาษาของอียิปต์โบราณ หนูน้อยเรียนรู้ภาษาที่ซับซ้อนนั้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ เธอบอกว่า เธอไม่ได้ท่องจำ แต่เป็นการรื้อฟื้นความรู้เดิมที่ลืมไปนาน

ทางเข้าด้านนอกวิหารฟาโรห์เซติที่ 1
ช่วงย่างเข้าวัยรุ่นเธอใช้เวลาไปกับการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับดินแดนไอยคุปต์ในห้องสมุดแทบทุกวัน แม้กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเธอต้องย้ายไปอยู่บ้านยายเพื่อหลบระเบิด ก็ยังไม่วายไปอยู่ในห้องสมุดของเมืองนั้นต่อ เมื่ออายุ 15 ปี สาวน้อยโดโรธีบอกว่า เธอมักจะฝันเห็นฮอร์รา วิญญาณโบราณที่มาบอกว่าเธอนั้นในอดีตกาลเป็นผู้หญิงชื่อ เบนทริไชต์ (Bentreshyt) เป็นนักบวชอยู่ในวิหารเซติ ที่อบีดอส ฮอร์รา เฝ้าเวียนมาเข้าฝันโดโรธีเป็นเวลากว่าสิบสองเดือน เพื่อเล่าเกี่ยวกับอดีตชาติของเธอ นอกจากจะเป็นนักบวชหญิงพรหมจรรย์แล้ว เธอยังรู้ด้วยว่าเธอเสียพรหมจรรย์ไปเนื่องจากแอบมีความสัมพันธ์กับฟาโรห์เซติที่ 1 ซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต โดยหัวหน้านักบวชของวิหารนั้น แต่เธอไม่ยอมให้ประหารชีวิต เพราะเธอชิงฆ่าตัวตายก่อน

ในสายตาของคนอื่น โดโรธีมีความผิดปกติมากขึ้นทุกวัน ขณะนอนหลับเธอไม่เพียงแต่มีอาการฝันร้ายแต่ยังละเมอและลุกขึ้นมาเดินด้วย เธอเขียนเรื่องราวในอดีตชาติของเธอเป็นอักษรเฮียโรกลิฟฟิกกว่า 70 หน้า อาการของเธอดูซีเรียสมากขึ้นจนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจิตเวชหลายครั้ง ต่อมาเธอเข้าไปเรียนโรงเรียนศิลปะที่พลีมัธ และร่วมแสดงละครของโรงเรียนหลายครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าละครนั้นจะเกี่ยวข้องกับอียิปต์เสมอ เธอยังเข้าร่วมกับกลุ่มที่ต้องการปลดปล่อยประเทศอียิปต์ให้เป็นเอกราชด้วย ในช่วงนี้เองที่โดโรธีพบรักกับนักศึกษาหนุ่มชาวอียิปต์ ชื่อ อีแมน แอ็บเดล เมกุด (Eman Abdel Meguid) ซึ่งในที่สุดทั้งสองก็แต่งงานกัน

แล้วความฝันก็เป็นจริง ในปี 1931 โดโรธีมีโอกาสกลับไปอียิปต์ตามสามีของเธอ ว่ากันว่าเมื่อไปถึงที่อียิปต์ เธอถึงกับคุกเข่าลงไปจูบแผ่นดินแล้วบอกว่า “ในที่สุดฉันก็ได้กลับมาบ้านแล้ว” ทั้งสองมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน ซึ่งเธอ ตั้งชื่อว่า เซติ และนั่นเป็นที่มาของชื่อในภาษาอียิปต์ของเธอว่า โอมเซติ (Omm Sety) ซึ่งแปลว่า มารดาของเซติ แต่หลังจากมีลูกด้วยกันไม่นานทั้งสองก็แยกทางกัน เมื่อสามีของเธอต้องย้ายไปทำงานสอนที่อิรักแต่เธอไม่ยอมไปด้วย

ภายในสุสานของฟาโรห์เซติที่ 1
โดโรธีย้ายไปพักอยู่ใกล้กับพีระมิดกีซ่าและเข้าออกที่นั่นบ่อยมากจนรู้จักกับนักโบราณคดีชื่อ เซลิม ฮาสซาน (Selim Hassan) เขาแนะนำให้เธอได้ทำงานที่กรมศิลปฯ ของอียิปต์ ในส่วนที่ดูแลเรื่องโบราณสถานและโบราณวัตถุของอียิปต์ โดยเริ่มต้นการทำงานเป็นเลขานุการ แต่เมื่อหัวหน้ารู้ว่าเธอมีความรู้เกี่ยวกับอียิปต์โบราณและเชี่ยวชาญอักษรเฮียโรกลิฟฟิกมาก จึงให้เธอทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้าไปศึกษาและทำงานค้นคว้าเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณ ทำให้เธอมีโอกาสพบและแสดงความรู้ความสามารถต่อนักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาเหม็ด ฟาครีย์ (Ahmed Fakhry) ผู้ที่ขอตัวเธอไปเป็นผู้ช่วยในโครงการขุดสำรวจพีระมิดดาเชอร์ ในช่วงนี้มีคนเห็นเธอทำพฤติกรรมแปลกๆเป็นประจำ เช่น การเข้าไปในพีระมิดแห่ง กีซ่าเพียงลำพังในเวลากลางคืนเพื่อทำพิธีกรรมอะไรบางอย่าง ไปสวดมนต์ถึงเทพโฮรัสที่หน้าสฟิงซ์ ฯลฯ

กระทั่งปี 1956 โครงการสำรวจพีระมิดดาเชอร์ยุติลงด้วยความล้มเหลว โดโรธีจึงย้ายไปอยู่ที่อบีดอส ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารเซติที่ 1 ที่ซึ่งเธอต้องการกลับไปอยู่มากที่สุด โดยไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้กับซากปรักหักพังของวิหารเซติ ที่นั่นทุกคนเรียกเธอว่า โอมเซติ จนเป็นปกติ ทุกวันเธอมีความสุขกับการเข้าไปทำพิธีที่ไม่มีใครรู้และสวดมนต์ในวิหาร เธอยังคัดลอกภาพอักษรโบราณจากเศษซากหินและร่างแผนผังแบบแปลนของวิหาร งานของเธอโดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและพิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่มีอยู่ในตำรา เป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากต่อผู้ที่เข้าไปศึกษาและค้นคว้าที่นั่นอย่างยิ่ง ในช่วงทศวรรษที่ 60 เธอได้เขียนหนังสือหลายเล่ม รวมทั้งบทความจำนวนมากเกี่ยวกับประเพณีและขนบธรรมเนียมของอียิปต์โบราณแก่ศูนย์ศึกษาอียิปต์ของอเมริกัน (American Research Center in Egypt)

โอมเซติ ผู้มีความผูกพันข้ามภพชาติ
การกลับชาติมาเกิดของเธอนั้นเป็นที่กังขาของคนจำนวนไม่น้อย ครั้งหนึ่งเธอถูกทดสอบโดยผู้อำนวยการคนหนึ่งของกรมศิลปฯ อียิปต์ เพื่อยืนยันว่าเธอเคยอยู่ที่วิหารนั้นมาก่อน เขาให้เธอยืนอยู่ในห้องมืดสนิทที่เธอไม่เคยเข้าไปมาก่อน เขาให้เธอบอกว่าบนผนังมีภาพวาดอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง ผลก็คือนอกจากจะบอกตำแหน่งที่ถูกต้องได้หมดแล้ว เธอยังสามารถอธิบายความหมายและความเกี่ยวข้อง กันของภาพทั้งหมดได้ด้วย ทั้งที่ภาพเหล่านั้นยังไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อนเลย

ความรู้ที่ลึกเกินตำราของเธอเป็นที่สนใจของนักโบราณคดีจำนวนมาก ครั้งหนึ่งเธอเคยบอกให้นักโบราณคดีที่เข้าไปสำรวจหาจุดที่เคยเป็นสวนดอกไม้ในวิหารเซติที่ 1 ไปขุดตรงจุดหนึ่งที่เธอจำได้ เมื่อขุดลงไปก็เจอจริงๆ นักโบราณคดีของอังกฤษคนหนึ่งถึงกับบอกว่า หากโอมเซติบอกให้ขุดตรงไหน เขาก็จะเชื่อและขุดตรงนั้นเพราะมันไม่เคยพลาดเลย เธอจึงเป็นที่ต้องการตัวของนักโบราณคดีและนักอียิปต์วิทยามาก

ในช่วงทศวรรษที่ 70 โอมเซติพูดถึงสุสานของพระนางเนเฟอร์ตีติ ซึ่งนักโบราณคดีพยายามหากันมานาน เธอบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในหุบผากษัตริย์อยู่ใกล้กับสุสานตุตันคามุนนั่นแหละ ซึ่งนักสำรวจทั่วไปเชื่อว่าที่นั่นไม่มีสุสานให้ขุดอีกแล้ว จึงไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ จนกระทั่งเมื่อปี 1976 มีการนำเอาเครื่องโซนาร์เข้าไปใช้ และพบว่าใกล้กับสุสานตุตันคามุน เครื่องโซนาร์สะท้อนเสียงที่แตกต่างออกไป แต่ก็ยังไม่มีการลงมือทำอะไร จนถึงปี 1998 นักโบราณคดีของอังกฤษ ดร.นิโคลัส รีฟส์ ได้เริ่มโครงการขุดสำรวจอย่างจริงจังและพบตราประทับที่สมบูรณ์จำนวนมากของราชวงศ์ที่ 20 ทำให้มีความหวังมากขึ้น พอถึงปี 2000 ดร.รีฟส์ได้นำเอาโซนาร์เข้าไปตรวจอีกครั้งก็พบจุดที่น่าสงสัยสองจุดอยู่ใต้ดิน ปี 2006 การขุดเริ่มขึ้นอีกครั้งและพบห้องห้องหนึ่งจริง เป็นห้องสำหรับการทำมัมมี่ให้ชนชั้นกษัตริย์ ซึ่งเครื่องมือต่างๆยังอยู่ครบในสภาพที่สมบูรณ์มาก

ภาพวาดฟาโรห์เซติที่ 1 โดยอาศัยเค้าโครงใบหน้าจากมัมมี่

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2016 รัฐมนตรีกระทรวงโบราณสมบัติแห่งชาติของอียิปต์ได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการขุดสำรวจห้องที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นของพระนางเนเฟอร์ตีติ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งท่านรัฐมนตรีกล่าวว่า การเปิดสุสานนั้นจะสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ชาวโลกอีกครั้ง เช่นเดียวกับครั้งที่พบสุสานตุตันคามุน โดยฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ เมื่อปี 1922 และวันนั้นจะเป็นวันที่พิสูจน์คำพูดของโอมเซติ รวมทั้งการกลับมาเกิดใหม่ของเธออีกครั้ง
Omm Sety
ตามอายุงานโอมเซติจะต้องเกษียณราชการตั้งแต่ปี 1962 แต่ทางกรม ก็ต่ออายุให้เป็นกรณีพิเศษเพื่อไปจนถึงปี 1969 หลังจากเกษียณแล้วเธอยังคงใช้ชีวิตอยู่ใกล้วิหารเซติที่ 1 ต่อไป โดยทำงานเป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1981 สิ้นสุดความผูกพันกับอดีต 3,000 ปี ซึ่งก็ไม่แน่ว่าถ้าการกลับชาติมีจริง เธออาจกลับมาที่นี่อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้.

รายการบล็อกของฉัน