"พญาตานี" ปืนใหญ่ใส่อดีตอันรุ่งเรืองของ กษัตริยาแห่งปัตตานี
"พญาตานี" ปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และตั้งแสดงในตำแหน่งประธานของกลุ่มปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหม มีอายุเก่าแก่ราว ๔๐๐ ปี เป็นภาพสะท้อนความรุ่งเรืองของรัฐปัตตานีในอดีต ที่ครั้งหนึ่งถูกปกครองโดยราชินี ผู้หญิงที่สามารถนำบ้านเมืองต่อต้านการรุกรานจากอาณาจักรใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยาได้ และยังสามารถนำพารัฐเปิดประตูการค้ากับนานาประเทศได้ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา
ปัตตานีเป็นชุมชนโบราณที่มีหลักฐานย้อนหลังไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๖ และค่อยๆ พัฒนาจากชุมชนชายฝั่งทะเล กลายเป็นรัฐที่มีความมั่งคั่งและมั่นคง เนื่องจากเป็นเมืองท่าสำคัญในเส้นทางการค้าทางทะเลโบราณ ซึ่งมาจากทุกทิศทุกทางของโลก ตั้งแต่ยุโรป อินเดีย เปอร์เซีย จีน ญี่ปุ่น และชวา
จนกระทั่งกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปัตตานีก็พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ภายใต้การปกครองของอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งมีเมืองโกตามะลิฆัย (Kota Mahligai) เป็นเมืองหลวง แต่ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งทะเล ทำให้หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ คือ "ปะตานี" ซึ่งอยู่ติดริมชายฝั่ง มีเรือสินค้ามาจอดแวะค้าขายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นจุดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อไปยังลังกาสุกะได้สะดวกกว่า ทำให้เมืองโกตามะลิฆัยค่อยๆ หมดความสำคัญลง จนต้องย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ปัตตานีแทน ไม่เพียงเท่านั้นชื่อของปัตตานียังเพิ่มความสำคัญจนกระทั่งไม่มีใครพูดถึงลังกาสุกะอีกต่อไป เรื่องราวการเกิดของปัตตานีปรากฏอยู่ในตำนานหลายสำนวนแตกต่างกันออกไป แต่ทุกตำนานมีโครงเรื่องที่จะอธิบายที่มาของคำว่า "ปัตตานี" แทบทั้งสิ้น
ตำนานเมืองปัตตานี
ตำนานเรื่องหนึ่งกล่าวถึงกษัตริย์เมืองโกตามะลิฆัย พระนามว่าพญาตู นักปา (Tu Nakpa) เสด็จมาล่าสัตว์บริเวณป่าแถบชายทะเลปัตตานี แล้วทรงเห็นว่าเป็นที่เหมาะสมที่จะสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ที่นี่ จึงสั่งเกณฑ์ผู้คนจากโกตามะลิฆัยมาสร้างเมืองและพระราชวังขึ้น แล้วสั่งย้ายผู้คนมาอยู่ที่เมืองใหม่แห่งนี้ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่อาศัยของชายชราชาวมลายูชื่อเอนชิค ตานี (Encik Tani) แต่คนทั่วไปเรียกกันว่าปะตานี หรือเจ๊ะ ตานี เมืองนี้จึงตั้งชื่อขึ้นตามชาวประมงชราผู้นี้
บางสำนวนก็ว่า พญาตู นักปา ติดตามรอยเท้าสัตว์มาถึงชายทะเล ผู้ติดตามทูลว่ารอยเท้าสัตว์ได้หายไปที่หาดแห่งนี้ คำว่า "หาดแห่งนี้" ตรงกับภาษามลายูว่า "ปะตานี" เพี้ยนมาจาก "ปันตัยอินี"
ตำนานเมืองปัตตานียังมีอีกหลายสำนวนที่ว่าด้วยที่มาของคำนี้ นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานที่มาของ "ปัตตานี" ในทางภาษาอีกหลายๆ ทาง เช่นมาจาก "ธานี" หมายถึงเมืองใหญ่ริมสมุทร "ปะฏานี" ในภาษาอาหรับ ที่หมายถึงนักปราชญ์ "ปตานี" ในภาษาบาลี สันสกฤต หมายถึงหญิงครองเมือง และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากภาษามลายู "ปะตานี" หมายถึงชาวนา
เปลี่ยนจากพุทธเป็นอิสลาม
แต่เดิมชาวปัตตานีได้รับอิทธิพลจากอินเดียมีวัฒนธรรมแบบฮินดู และนับถือพุทธนิกายมหายาน จนต่อมาในสมัยพญาตู นักปา จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ตำนานเมืองปัตตานีกล่าวถึงมูลเหตุที่ชาวปัตตานีเปลี่ยนศาสนาว่าพญาตู นักปา หรือราชาอินทิรา (Raja Intira) ทรงพระประชวร ป่วยเป็นโรคเรื้อนรักษาไม่หาย บรรดาหมอหลายคนมาถวายการรักษาก็ไม่เป็นผล
จนกระทั่ง เชค ซาฟียุดดิน (Sheikh Safiuddin)
ชาวมุสลิม ซึ่งอพยพมาจากเกาะสุมาตรา อาสาที่จะถวายการรักษา แต่มีข้อแม้ว่าหากรักษาหายแล้ว ราชาอินทิราต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ปรากฏว่า เชค ซาฟียุดดิน สามารถรักษาจนหายได้ แต่ราชาอินทิราไม่ทรงรักษาสัญญาที่ให้ไว้ ทำให้โรคเก่ากำเริบขึ้นอีก เชค ซาฟียุดดิน ต้องมารักษาให้ใหม่ ราชาอินทิราก็ไม่ทรงรักษาสัญญาอีก เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง จนกระทั่งครั้งที่ ๔ จึงทรงยอมกระทำตามสัญญาที่ให้ไว้
หลังจากนั้นศาสนาอิสลามก็ได้เผยแผ่จากราชสำนักลงไปสู่ชาวปัตตานี เชค ซาฟียุดดิน ได้รับแต่งตั้งเป็น ดาโต๊ะซะรี รายา ฟากิฮฺ ส่วนราชาอินทิราทรงเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์ (Sultan Ismail Syah) มีการสั่งให้ทำลายพุทธสถาน พุทธรูป เทวรูป และสร้างมัสยิดขึ้นแทน และถือว่าสุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์ พระองค์นี้คือกษัตริย์แห่งรัฐปัตตานีพระองค์แรก ครองราชย์ระหว่างปี ๒๐๔๓-๒๐๗๓
ส่วนข้อสันนิษฐานที่อาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บ่งชี้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ปัตตานีเปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลามนั้น อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากมะละกา ซึ่งขณะนั้นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยามีอำนาจครอบคลุมไปถึงมะละกา ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นรัฐอิสลาม ถือโอกาสในระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาติดพันสงครามทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ จึงทำการแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นต่อรัฐบาลกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป
ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงมีพระบรมราชโองการให้ส่งกองทัพจากกรุงศรีอยุธยา และเกณฑ์ทัพจากหัวเมืองปักษ์ใต้ไปตีมะละกา ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า "ศักราช ๘๑๗ กุญศก แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมลากา" แต่การศึกครั้งนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ นี้ เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๙๙๘ ซึ่งใกล้เคียงกับเวลาครองราชย์ของราชาอินทิราคือระหว่างปี ๒๐๑๒-๒๐๕๗
ทางด้านกองทัพมะละกา เมื่อสามารถต่อต้านกองทัพสยามได้สำเร็จ ก็ส่งกองทัพเข้าตีหัวเมืองใหญ่น้อยของสยามกลับคืน ได้ปาหัง ตรังกานู กลันตัน ไทรบุรี และรุกรานปัตตานีเข้าทำลายพระพุทธรูป และศาสนสถาน ไปจนหมดสิ้น ราชาอินทิราจึงต้องยอมผ่อนตามมะละกา หันมานับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่บัดนั้น