ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เบลล์ อดีตครูสอนคนหูหนวกได้สิทธิบัตรในการสร้าง “โทรศัพท์” เป็นเจ้าแรก

Alexander Graham Bell
7 มี.ค.1876: “เบลล์” อดีตครูสอนคนหูหนวกได้สิทธิบัตรในการสร้าง “โทรศัพท์” เป็นเจ้าแรก
ภาพเขียนของอเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ โดย Timoléon Marie Lobrichon [Public domain], via Wikimedia Commons
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559
อเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ 

(Alexander Graham Bell) เกิดที่สก็อตแลนด์ในครอบครัวที่แม่เป็นคนหูหนวก ส่วนพ่อเป็นครูสอนภาษาใบ้ ทำให้ภายหลังเขาเลือกที่จะเป็นครูสอนคนหูหนวก และได้แต่งงานกับหญิงสาวที่หูหนวกเหมือนแม่ของตน

หลังจากที่ครอบครัวของเขาย้ายไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เบื้องต้นเขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็นครูสอนคนหูหนวกพร้อมๆไปกับการศึกษาหาวิธีส่งข้อความโทรเลขหลายข้อความในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในปี 1868 โจเซฟ สเติร์นส (Joseph Sterns) สามารถสร้างระบบที่ทำให้ส่งข้อความ 2 ข้อความผ่านสายส่งเส้นเดียวได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเวสเทิร์นยูเนียนเทเลกราฟ (Western Union Telegraph) ได้สิทธิในระบบดังกล่าวของสเติร์นมา และได้ว่าจ้างให้ โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison) นักประดิษฐ์ชื่อดังช่วยพัฒนาระบบจนสามารถส่งข้อความได้พร้อมกัน 4 ข้อความ

ขณะที่เบลล์และคู่แข่งคนสำคัญอลิชา เกรย์ (Elisha Gray) ได้พัฒนาระบบที่ทำให้สายโทรเลขหนึ่งสายมีช่องทางสื่อสารได้ถึง 10 ช่องทางหรือมากกว่า ที่เรียกกันว่าระบบโทรเลขแบบประสานซึ่งมี ลิ้นเครื่องเป่า (reeds, แผ่นวัสดุบางๆ) หรือส้อมตั้งเสียงเป็นตัวรับสัญญาณจากแรงสั่นสะเทือนของเสียง ซึ่งทำได้ดีในห้องทดลองแต่ยังเชื่อถือไม่ได้ในการใช้งานจริง
จากระบบโทรเลขแบบประสาน ทั้งเบลล์และเกรย์ได้พัฒนาไปสู่การส่งเสียงมนุษย์ตามสาย ซึ่งเบลล์ได้ยื่นหนังสืออธิบายวิธีการส่งเสียงตามสายของเขาแก่สำนักงานสิทธิบัตรในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1876

ก่อนที่เกรย์จะยื่นหนังสืออธิบายถึงกระบวนการทำงานของระบบที่คล้ายๆกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งสุดท้ายสำนักงานสิทธิบัตรได้ตัดสินใจมอบสิทธิบัตรให้กับเบลล์ในวันที่ 7 มีนาคม 1876

แม้จะมิได้สิทธิบัตรแต่เวสเทิร์นยูเนียนได้ว่าจ้างให้เกรย์และเอดิสันพัฒนาระบบโทรศัพท์ของตนขึ้นมา ทำให้เบลล์ฟ้องร้องคู่แข่งและศาลสูงตัดสินให้เบลล์เป็นผู้ชนะ หลายปีต่อมาเบลล์คอมพานียังคงชนะการต่อสู้ทางกฎหมายอีกหลายครั้งจนกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้วางรากฐานระบบโทรคมนาคมสมัยใหม่ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่ออเมริกันเทเลโฟนแอนด์เทเลกราฟ (AT&T) 

แต่เบลล์เองมิได้รับผลประโยชน์มากมายนัก จากความยิ่งใหญ่ของบริษัทที่มาจากการริเริ่มของเขา เนื่องจากเบลล์เลือกที่จะขายหุ้นเกือบทั้งหมดไปเพียงไม่กี่ปีหลังจากที่เขาได้สิทธิบัตร
ข้อมูลจาก Encyclopedia Britannica และ เว็บไซต์ History

รายการบล็อกของฉัน